10 วิธีรักษา “โรคตาปลา” หายขาดได้ด้วยวิธีง่ายๆ

Loading...

ตาปลา (Corns) เป็นโรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแรงกดหรือแรงเสียดสีเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีปมกระดูกนูน โดยเฉพาะที่บริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า ตาปลาเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น และส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้แต่อย่างใด (ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเป็นแล้วไม่รักษาให้ดี อาจเกิดการอักเสบรุนแรงได้)

สาเหตุของตาปลา

• สาเหตุภายนอก หรือ สาเหตุจากการกระทำของผู้ป่วย (Extrinsic factor) ได้แก่

1. การสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นหรือหลวมไม่เหมาะกับเท้า

2. การสวมใส่รองเท้าส้นสูง

3. การเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม

4. การที่ไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน

5. การใช้มือหรือเท้าทำงานบางอย่างบ่อย ๆ เป็นเวลานาน (เช่น ร้อยพวงมาลัย การเขียนหนังสือมาก ๆ ใช้นิ้วมือหิ้วของหนัก ๆ เป็นนักกีฬายิมนาสติก เป็นช่างตีเหล็ก ช่างขุด ช่างเจาะ ฯลฯ, เด็กทารกที่มีการดูดนิ้วมือตัวเองบ่อย ๆ ก็อาจพบได้เช่นกัน)

6. ปัญหาเรื่องท่ายืนหรือท่าเดินของผู้ป่วยที่ทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกกดทับมากเกินไป

7. ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้าเป็นเวลานาน จึงเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง ๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา

• สาเหตุจากภายใน หรือ สาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วย (Intrinsic factor) ได้แก่

1. ผู้ที่มีเท้าผิดรูปหรือผิดปกติ (เช่น นิ้วเท้างุ้ม (Hammer toe) ซึ่งเกิดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้านานเป็นแรมปี) ทำให้บางตำแหน่งต้องรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ

2. เกิดจากความผิดปกติมีปุ่มกระดูกนูนหรือยื่นออกมา (ทำให้เกิดการเสียดสีเวลาในงานได้ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์  ซึ่งผู้ป่วยจะมีข้อนิ้วมือผิดรูป ทำให้การใช้งานไม่เป็นปกติและเกิดการเสียดสีบางในบางตำแหน่งมากเกินไป)

3. การมีน้ำหนักตัวมาก (ทำให้เท้ารับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับบางตำแหน่งมากกว่าปกติ)

ลักษณะอาการ

• ตาปลา ที่เรียกว่า “คอร์น” (Corn, Clavus, Heloma)

1. ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง (เรียกว่า Central core, Nucleus, Radix)

2. เกิดจากผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้าที่เรียกว่า Stratum corneum มีการบุ๋มตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคล (Keratin) ซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้อยู่

3. ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บนั่นเอง และในบางครั้งอาจพบว่ามีการอักเสบแดงของผิวหนังโดยรอบ ตาปลาชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ

 ตาปลาชนิดขอบแข็ง (Hard corn, Heloma durum)

– เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้า

– โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย

– ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีผิวแห้ง เป็นขุย แต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง

– เมื่อใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งสีออกใส ๆ อยู่ตรงกลางตุ่ม ซึ่งมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร

 ตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn, Heloma molle)

– เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณง่ามนิ้วระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วนางของเท้า

– ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตาปลาที่นุ่มกว่าชนิดแรก มีผิวชุ่มชื้นและมักจะมีการลอกตัวออกของผิวเสมอ

– หากใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน

• ตาปลา ที่เรียกว่า “คัลลัส” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หนังหนาด้าน” (Callus, Tyloma)

1. ตาปลาที่พบได้ที่บริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้าส่วนที่เชื่อมต่อกับนิ้วเท้า

2. ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง ผิวหนังจะมีความหนาและด้านกว่าปกติ

3. มีขนาดใหญ่กว่าตาปลา อาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว

4. ส่วนขอบเขตของตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดแรกที่จะมีขอบเขตอย่างชัดเจน

5. ในบางครั้งยังอาจเกิดตาปลาชนิดที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางร่วมด้วย

6. ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างใด

7. แต่ถ้าเป็นตาปลามีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสวมใส่รองเท้า ผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าแบน จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นตาปลาชนิดนี้สูงมาก

8. อาจพบได้ที่ฝ่ามือหรือหัวเข่าบริเวณที่มีแรงเสียดสี เช่น จากการใช้มือจับอุปกรณ์ในการทำงานจนเกิดแรงเสียดสีอยู่เป็นประจำ เช่น จอบ เสียม กรรไกร มีด

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

• ตาปลาที่มีอาการเจ็บ อาจทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่คล่องตัว ทำงานได้ไม่สะดวก

• ผู้ป่วยที่มักเฉือนตาปลาออกด้วยตัวเอง อาจพลาดไปเฉือนเอาผิวหนังปกติออกจนมีเลือดออกและกลายเป็นแผล ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้

• สำหรับตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn) ที่ผิวหยังมีการลอกตัว อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนของแขนและขา)

• ถ้าปล่อยไว้นาน ตาปลาอาจเกิดการอักเสบเป็นแผลและติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน อาจจะเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายได้

การวินิจฉัยโรคตาปลา

• ดูจากอาการและการตรวจรอยโรคเป็นหลัก แต่ที่สำคัญคือต้องแยกตาปลาออกจากหูด เพราะทั้งสองโรคนี้จะเป็นตุ่มนูนแข็งที่ผิวหนังคล้ายๆ กัน แต่จะมีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกัน

• แพทย์จะทดสอบโดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ ถ้าเป็นหูดจะมีเลือดออกเล็ก ๆ ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหูด เมื่อกดจากด้านข้างเข้าหากันจะรู้สึกเจ็บ

• ถ้าเป็นตาปลาเมื่อบีบด้านข้างจะไม่เจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อกดลงไปตรง ๆ ที่ตุ่มนูน และในตุ่มนั้นจะไม่มีเลือดออก

• สำหรับการวินิจฉัยเพื่อแยกชนิดตาปลานั้น จะทำได้โดยการ

1. ใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ เช่นกัน

2. ถ้าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบจุดแข็งอยู่ตรงกลาง

3. แต่ถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่มีจุดแข็งอยู่ตรงกลาง

4. นอกจากนี้ที่ผิวหนังของตาปลาชนิดคัลสัสยังพบลายเส้นของผิวหนังเป็นปกติ

5. ตาปลาชนิดชนิดคอร์นจะไม่พบลายเส้นของผิวหนัง

• แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ถ้าพบว่าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบผิวหนังชั้นหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น โดยที่บริเวณตรงกลางของตุ่มนูน ผิวหนังชั้นบนสุดจะมีการบุ๋มตัวลงไป และถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่พบการหนาตัวของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า แต่จะพบชั้นขี้ไคลมีการหนาตัวมากขึ้น

• เมื่อวินิจฉัยได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นตาปลา ได้แก่ การซักประวัติอาชีพการทำงาน กิจกรรมที่ผู้ป่วยมักทำเป็นประจำ การตรวจดูรูปร่างของมือหรือเท้าว่ามีรูปร่างผิดปกติหรือมีกระดูกยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยวิธีการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูรูปร่างของกระดูกต่อไป นอกจากนี้แพทย์ยังอาจใช้วิธีการตรวจดูการรับน้ำหนักของเท้าในขณะเดินด้วย (Pedobarography)

วิธีการรักษา

• การลดแรงกดทับและแรงเสียดสี

• เปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ไม่หลวม ไม่คับหรือบีบแน่นจนเกินไป

• ด้านหน้าของรองเท้าเมื่อสวมใส่แล้วจะต้องไม่บีบนิ้วเท้า มีช่วงนิ้วเท้ากว้าง พื้นรองเท้าต้องมีความนิ่มและยืดหยุ่น และส้นรองเท้าต้องไม่สูงจนเกินไป

• ถ้าจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ควรไปซื้อในช่วงบ่ายหรือเย็น เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เท้าจะบวมขึ้นในระหว่างที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน

• สวมใส่ถุงเท้าหนา ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดของเท้า แต่ถุงเท้าที่สวมใส่ควรพอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เมื่อใสแล้วจะต้องไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป และต้องดูให้แน่ใจด้วยว่าถุงเท้าที่สวมใส่นั้นไม่มีตะเข็บที่จะไปขูดกับตาปลาหรือบริเวณที่อาจเกิดตาปลา

• หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าควรใช้ฟองน้ำหรือแผ่นรองเท้ารองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านเอาไว้ในขณะสวมใส่รองเท้าด้วย เพื่อช่วยลดแรงกดและแรงเสียดสีที่เท้า หรืออาจใช้วิธีเสริมพื้นรองเท้าเป็นพิเศษเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อช่วยลดแรงกดก็ได้

• ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรสวมใส่ถุงมือในขณะทำงานด้วย เพื่อช่วยลดการเสียดสีของผิวหนัง

• ผู้ที่เป็นตาปลาบนนิ้วเท้าควรหาซื้อซิลิโคนป้องกันตาปลามาใช้ เพราะแผ่นซิลิโคนที่ถูกผลิตมาเป็นพิเศษจะช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทกระหว่างนิ้วเท้าได้

• ผู้ที่เป็นตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้าด้วย

• หากตาปลาเกิดจากสาเหตุที่เท้าผิดรูป หรือจากการลงน้ำหนักของเท้าที่ผิดปกติ อาจต้องเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

• ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากและมีตาปลาที่เท้า ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น

ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมา เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม

• ขั้นตอนที่ช่วยลดขนาดของตาปลาลงได้

1. แช่เท้าในน้ำร้อนอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ 10 นาทีเพื่อให้ตุ่มตาปลานิ่มลง

2. จากนั้นให้ใช้หินขัดเท้าหรืออุปกรณ์ขัดผิวอย่างอื่น เช่น ตะไบขัดเท้า แปรงขัดเท้า

3. ค่อยๆ ขัดลงไปที่รอยโรค เมื่อขัดเสร็จแล้วให้เช็ดเท้าให้แห้งแล้วบำรุงด้วยครีมทาเท้าเพื่อให้เท้าเกิดความชุ่มชื่น

4. ทำแบบเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหายไป

5. ไม่แนะนำให้ใช้ธูปจี้หรือตัดตาปลาออกด้วยใบมีด มีดโกน กรรไกร หรือของมีคมอื่น ๆ ด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผลจนเท้าติดเชื้ออย่างรุนแรงขึ้นมาได้

• สมุนไพรกำจัดตาปลา (แต่อาจจะได้ผลไม่ดีนัก)

1. กระเทียม

 ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ

 นำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา

 แล้วใช้กระเทียมส่วนที่เหลือนำมาสับใช้พอกตรงตาปลา

 พันทับด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์

 ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วจึงค่อยแกะออก

 ให้ทำซ้ำกันทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์

2. มะนาวหรือเลมอน

 ใช้สำลีชุบน้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน (หรือหั่นเป็นแว่น ๆ)

 แล้วนำมาเช็ดถูบริเวณที่เป็นตาปลา

 จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง

 ทำซ้ำทุกวัน

 หรือจะใช้บริเวอร์ยีสต์ (Brewer’s Yeast) ซึ่งเป็นอาหารเสริมนำมาผสมกับน้ำมะนาวเล็กน้อยให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดทับด้วยพลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ก็จะช่วยให้ตาปลานิ่มลงได้เช่นกัน

3. มะละกอดิบ

 ให้นำมาละกอดิบมาคั้นเอาแต่น้ำ

 แล้วใช้สำลีชุบน้ำมะละกอดิบใช้แปะลงบนตาปลา

 แล้วปิดทับด้วยพลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน

 ในตอนเช้าให้แกะพลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น

 ให้ทำซ้ำทุกวันจนกว่าจะเห็นผล

4. เปลือกสับปะรด

– ให้นำเปลือกที่เราไม่ใช้แล้วมาหั่นเป็นชิ้นขนาดพอดีกับตาปลา

– แล้วแปะลงตรงปลาและปิดทับด้วยพลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน

– จากนั้นแกะออกล้างให้สะอาด

– ทาบริเวณตาปลาด้วยน้ำมันมะพร้าว

– ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นประจำจนกว่าจะหาย

5. ผงขมิ้น

– นำผงขมิ้นไปผสมกับน้ำผึ้งให้เป็นเนื้อครีม

– ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลา

– แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์

– ตาปลาก็จะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป

 หรือจะใช้ผงขมิ้นผสมกับเจลว่านหางจระเข้ทาลงในพลาสเตอร์แล้วปิดทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้ จากนั้นก็แกะออกแล้วทาด้วยครีมบำรุงตามปกติ โดยให้ทำซ้ำติดต่อกันเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหาย

6. ชะเอมเทศ

– นำผงชะเอมเทศมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ดให้เป็นเนื้อครีม

– ใช้พอกลงบริเวณที่เป็นตาปลาแล้วปิดทับด้วยพลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน

-ในตอนเช้าให้แกะพลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น

– ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่มและหายไป

7. น้ำมันสน

– นำน้ำแข็งมาประคบลงบริเวณที่เป็นตาปลาประมาณ 2 นาที

– แล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้ใช้น้ำมันสนทาลงบริเวณที่เป็นตาปลา

– แล้วปิดพลาสเตอร์ทับไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออก

– ทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ตาปลาหายเร็วขึ้น

8. น้ำมันละหุ่ง น้ำมันชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์แรง ในการใช้จึงต้องระมัดระวังให้มาก

– หาเทปพันแผลหรือพลาสเตอร์แบบที่เป็นรูตรงกลางมาปิดไว้รอบ ๆ ให้เหลือแต่บริเวณที่เป็นตาปลา

– แล้วใช้น้ำมันละหุ่งหยอดและกดทับด้วยสำลี

– แล้วปิดทับด้วยเทปพันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันซึมออกมา

– จากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า

9. น้ำส้มสายชูกลั่น

– นำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำ 3 ส่วน

– แล้วนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน

– ในตอนเช้าให้แกะออกแล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ

– จากนั้นให้บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว

–  วิธีนี้ให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำส้มสายชูเข้มข้นจนเกินไป

10. เบกกิ้งโซดา

– นำผงเบกกิ้งโซดา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำแล้วแช่ส่วนที่เป็นรอยโรคหรือตาปลาลงไปประมาณ 10-15 นาที

– จากนั้นขัดบริเวณที่เป็นตราปลาด้วยหินขัดหรือแปรงนุ่ม ๆ

– หรืออีกวิธีหนึ่งให้ใช้น้ำมะนาวผสมกับผงเบกกิ้งโซดาและน้ำเปล่า ทำให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลาและปิดทับด้วยพลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกและล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นให้ขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ ก็จะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น

หลังจากที่ได้อ่านกันแล้ว ก็คงได้รับรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆของโรคตาปลาและการรักษาโรคตาปลากันไปแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นความรู้และประโยชน์กับผู้ที่ได้อ่าน ส่วนใครที่กำลังประสบกับปัญหาอาการตาปลาอยู่ละก็ ก็ลองนำคำแนะนำด้านบนไปปฏิบัติตามได้เลย

 

ขอขอบคุณ : sentangsedtee / รูปภาพจากอินเตอร์เน็ตทุกแหล่งที่มา ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง
เรียบเรียง/ลำดับภาพโดย : HotNews69

Loading...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *