เป็นพื้นที่รับน้ำ น้ำท่วมบ่อยควรปลูกอะไรดี ? ถึงบางอ้อต่อไปนี้พืชจะไม่เสียหายอีกต่อไป

Loading...
เทศกาลน้ำท่วมกำลังมาอีกแล้ว คาดการณ์ไม่ได้เลยว่า จะท่วม หรือไม่ท่วม แต่ที่แน่ๆ ฝนตกติดต่อกันหลายวันแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นถนนหน้าบ้าน ซอยข้างบ้าน แม้แต่ถนนที่ต้องเดินทางออกทุกวี่วันเป็นประจำ ก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำ เนื่องจากถนนที่ต้องเดินทางนั้น อยู่ติดกับคลองชลประทาน แม้ว่าทางการเองจะดูแลเอาใจใส่ดี หาลูกรังมาถม 3-4 ปีหน แม้ว่าความสูงของถนนจะสูงกว่าระดับน้ำในคลองนิดหน่อย แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังท่วม ปัญหาไม่ได้เกิดจากน้ำมากหรืออะไร แต่เป็นเพราะชาวนาข้างๆ

หลายคนช่วยกันใช้รถขุดคันนากั้นน้ำจากคลองไม่ให้เข้าพื้นนาของตัวเอง น้ำไม่มีทางไปเลยต้องใช้ถนนเป็นทางผ่าน แถมยามน้ำในคลองลด น้ำบนถนนก็ไม่ได้แห้งเหือดไปพร้อมกัน กลับหาทางออกไม่ได้จนย่อยสลายทั้งลูกรังและต้นไม้ใบหญ้าที่ถูกท่วม ใจดีส่งกลิ่นให้เชยชมบ่อยๆ เมื่อน้ำมาท่วมและทางแก้ปัญหาต้นเหตุอาจใช้เวลานาน เราก็จำเป็นต้องอยู่กับน้ำให้ชินชา ต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้หลังจากน้ำท่วมเมื่อปี 54 กำลังแตกใบให้ผลผลิต อาจต้องมาล้มหายตายจากไปจากเทศกาลน้ำครั้งนี้อีกก็เป็นได้

เพราะไม่ได้คิดว่าจะท่วมกันบ่อยๆ ใจจริงแล้วมีข้อมูลเรื่อง ไม้ทนน้ำท่วม ไว้มากมาย แต่ไม่ได้หยิบยกมาใช้ กาลนี้เองถึงต้องรีบขวนขวายหามาเจือ เพราะไม่รู้ว่า น้องน้ำจะมาอีกหรือไม่

พืชทนน้ำท่วม ไม่ตายง่าย

ปลูกพืชที่อยู่กับน้ำแล้วไม่ตาย ต่อให้ท่วมมากแค่ไหน ถ้าไม่ท่วมถึงยอด ไม่มีวันตาย

  • น้ำท่วมไม่เกิน 1 เมตร ท่านให้ปลูก ผักกูด ใบเตย พืชเหล่านี้ทนน้ำท่วมได้ ตายแล้วก็จะงอกใหม่ แตกกอได้อีก
  • ท่วมมิดหัว ท่านว่าให้ปลูก กล้วย มะกอกน้ำ มะดัน พุดทรา ตะเคียน ยางนา หว้า ชะมวง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว มะม่วงเบา ไผ่ตงลืมแล้ง มะดัน ชมพู่มะเหมี่ยว ทุเรียนเทศ สะเดาเทียม สะเม็ด ต้นชมพู่ทับทิมจันทร์ พืชเหล่านี้ทนน้ำท่วมได้
  • พืชที่ตายแล้วก็จะงอกใหม่ในบางชนิด เช่น มะระขี้นก ย่านาง เตย
  • พืชทนน้ำท่วมบางชนิด มีน้ำท่วมขังแต่ยอดจมก็สามารถอยู่ได้ บางชนิดน้ำท่วมขังแค่เพียงไม่เกินส่วนยอดเท่านั้นและไม่เกิน 2 อาทิตย์ เช่น มะกรูด มะนาว

พืชต่อไปนี้คือ ตายแน่ๆ ท่วมมาก็ตายก่อนเพื่อนเลย คือ ขนุน ไผ่หวาน ชะอม สะเดาทะวาย กะท้อน มันเทศ สะตอ ลูกเนียง ลูกนาง เฮลิโคเนีย ดาหลา ตะใคร ขิง ข่า กระชาย ขมิ้น พริก มะเขือ มะนาว บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพู

พืชบางชนิดสามารถเอาตัวรอดได้หากมีรากแก้ว และระบบรากพอจะมีออกซิเจนเหลือให้หายใจได้ เนื่องจากน้ำอาจซึมผ่านชั้นดินไปไม่ถึง เพราะฉะนั้น ผลหมาก รากไม้ต่างๆ หากมีระบบรากไม่ลึกมากจะตายเสียส่วนใหญ่ ยกเว้นพืชที่มีระบบรากตื้น แต่มีเหง้า เช่น เตย กล้วย ไผ่ พวกนี้ตายยาก แต่หากท่วมเกินครึ่งเดือนก็ไม่ไหว ตายเหมือนกัน ขยายความเพิ่มเติม ดูที่ พืชทนน้ำ ท่วมก็ไม่ตาย

ส่วนพวกชมพู่มะเหมี่ยว มะม่วงเบา หากมีรากแก้วพวกนี้ส่วนใหญ่จะรอด ยกเว้นที่ปลูกในลักษณะการตอนกิ่ง ปักชำ ปักกิ่ง ไม่มีรากแก้ว แถมระบบรากตื้น น้ำท่วมก็จมน้ำตายได้ แต่ถ้าหากดินบริเวณที่ปลูกดูดซับน้ำได้ดี น้ำซึมเร็ว แห้งเร็ว ก็อาจจะรอดเนื่องจากรากได้หายใจ แถมท้ายด้วยเรื่อง ไม้ประดับทนน้ำท่วม….

ไม้ประดับทนน้ำท่วม

ทำไมพรรณไม้แต่ละชนิดจึงทนน้ำท่วมขังได้แตกต่างกัน

ถ้าตอบแบบง่ายๆ และถูกต้องก็คือ เป็นธรรมชาติของพรรณไม้ หากขยายความก็คือ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพรรณไม้ เห็นได้จากถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ (Habitat & distribution) พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ริมแหล่งน้ำ ก็จะชอบน้ำและทนทานต่อน้ำท่วม หากกล่าวถึงเฉพาะพรรณไม้พุ่มหรือไม้ต้นที่มีเนื้อไม้แข็ง สามารถสังเกตได้จากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเปลือกลำต้นและเปลือกรากที่มีความแข็ง หรือหนาเหนียว และอาจพบช่องแลกเปลี่ยนกาซตามเปลือกที่เป็นรอยขีดนูนหรือเป็นตุ่มนูนสีขาวหรือเทา ดังเช่น ต้นมะกอกน้ำ มะดัน อโศกน้ำ ยางนา ละมุด มะกรูด ซึ่งมีความทนทานต่อน้ำท่วมได้ดี แต่ในขณะที่เปลือกลำต้นหรือเปลือกรากมีลักษณะค่อนข้างอ่อน หนาและค่อนข้างฉ่ำน้ำ เช่น จำปี จำปา มะกอก มะกอกฝรั่ง พญาสัตบรรณหรือตีนเป็ด ชมพูพรรณทิพย์ จะไม่ทนทานต่อน้ำท่วม

ทำไมพรรณไม้ถึงตายเมื่อน้ำท่วม

ตามธรรมชาติแล้วพรรณไม้ประดับทุกชนิดต้องการน้ำที่จะนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต แต่มีความต้องการในปริมาณที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยดูดซับเข้ามาทางรากขนอ่อนที่อยู่ส่วนปลายของราก รากขนอ่อนนี้มีผนังบางๆ หากมีน้ำท่วม น้ำจะเข้าไปแทนที่ฟองอากาศที่มีอยู่ในดิน ทำให้รากแลกเปลี่ยนกาซไม่ได้ เซลล์จะตายหรือเน่าเสีย ทำให้รากใหญ่ดูดน้ำขึ้นไปใช้ไม่ได้ ใบก็จะขาดน้ำ ทำการสังเคราะห์แสงไม่ได้ ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เหี่ยวแห้งและร่วง ตายในเวลาต่อมา ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ทำไมใบไม้ ขาดน้ำ ทั้งๆ ที่ต้นแช่น้ำอยู่

พรรณไม้ประดับที่ทนน้ำท่วม

พรรณไม้ที่ทนน้ำท่วมส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง หรือขึ้นอยู่ริมแหล่งน้ำที่เป็นแม่น้ำ ลำธาร น้ำตก หนองบึง หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพรรณไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย อาทิเช่น พรรณไม้ในวงศ์ยาง (Family Dipterocarpaceae) ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนทราย สยาขาว กระบาก จันทน์กะพ้อ พะยอม พรรณไม้ในวงศ์มะเกลือ (Family Ebenaceae) โดยเฉพาะในสกุลมะพลับ (Genus Diospyros) ได้แก่ มะพลับ ไม้ดำ ดำดง สั่งทำ ตะโกพนม ตะโกนา ตะโกสวน จันดำ จันอิน มะเกลือ พญารากดำ พรรณไม้ในวงศ์อื่นๆ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โกงกางหัวสุม โกงกางหูช้าง กระโดน กระทุ่มน้ำ กระทุ่มนา กระเบา กรวยน้ำ กะพ้อแดง กะพ้อหนาม กาจะ การเวกน้ำ เกด กุ่มน้ำ ข่อย ขะเจาะน้ำ ขี้เหล็กบ้าน คัดเค้าเครือ คล้า คลุ้ม เคี่ยม แคนา ไคร้ย้อย จิกน้ำ จิกสวน ชมพู่น้ำ ชำมะเลียงบ้าน ตะแบกนา ตีนเป็ดน้ำ ตีนเป็ดทราย เตยทะเล เตยน้ำ เตยพรุ เตยหอม เตยหนู เต่าร้าง ทองกวาว ไทร โพธิ์ นาวน้ำ นนทรี นมแมว ประดู่ป่า ประดู่บ้าน ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ป่า ฝรั่ง พิกุล พุดทุ่ง พุดภูเก็ต พุดสี พุทรา โพทะเล มะกรูด โมกลา มะพร้าว มะขาม มะขามเทศ มะเดื่อกวาง มะตูม ยอบ้าน ละมุด ลำพู สะแก สะตือ เสม็ด สารภี หูกวาง หมากสง อินทนิล อโศกป่าพุ (พุเมืองกาญจนบุรี)

นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้จากต่างประเทศอีกหลายชนิดที่นำเข้ามาปลูกกัน แล้วมีความทนทานต่อภาวะน้ำท่วมได้ อาทิเช่น อโศกอินเดีย ก้ามปู หูกระจง กระดังงาจีน

อโศกอินเดีย

สำหรับพรรณไม้ประดับบางชนิด มีความทนทานเป็นเลิศ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำท่วมสูงมิดยอดเป็นเวลานาน (ทนได้ถึง 30 วัน) ได้แก่ ปาล์มแวกซ์ (Copernicia prunifera) ต้นตาลโตนด (Borassus flabellifer) จาก สาคู อโศกน้ำ มะกอกน้ำ มะดัน หลังจากน้ำลดลงแล้ว เจริญเติบโตต่อได้เลย

อย่างไรก็ตาม การปลูกพรรณไม้ทนน้ำท่วมเหล่านี้ประดับบ้าน ก็ควรมีการตัดแต่งทรงพุ่มให้สวยงาม มีการกำจัดวัชพืช โรคและแมลง มีการพรวนโคนต้นให้สวยงาม พร้อมทั้งมีการใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตเป็นช่วงๆ พรรณไม้เหล่านี้ก็จะเป็นไม้ประดับที่สวยงาม พร้อมที่จะสู้ทนน้ำท่วมให้เจ้าของบ้านอย่างท่านได้สบายใจ

กระดังงาจีน

(หากจะCopy กรุณาใสเครดิต)
ถ้าเพื่อน ๆ ชอบบทควาามนี้อย่าลืมกดไลค์และแชร์ต่อด้วยเน้อ หากไม่อยากพลาดเทคนิคดีดี หรือบทความยอดนิยมแบบนี้อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจ HotNews69 ของเราไว้ด้วยรับรองเราจะนำบทความดีดีมาให้ท่านได้เสพกันทุกวัน
ขอขอบคุณ : kasetorganic / ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) / รูปภาพจากอินเตอร์เน็ตทุกแหล่งที่มา ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง
เรียบเรียง/ลำดับภาพโดย : HotNews69

Loading...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *